มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก โดยส่วนมากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็จะยิ่งมีโอกาสในการรักษามากขึ้น เรามาทำความรู้จักกับโรคร้ายนี้กันเถอะ!
มะเร็งปอด เกิดจากอะไร?
มะเร็งปอด เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ภายในปอดอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และพัฒนาเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยทั่วไปมะเร็งปอดจะเริ่มจากเป็นจุดเล็กๆ ที่ปอด ทำให้ไม่แสดงอาการในระยะแรก กว่าที่ผู้ป่วยจะมีอาการมักอยู่ในระยะที่รุนแรงหรือระยะลุกลามแล้ว
มะเร็งปอดมีกี่ประเภทกันนะ?
มะเร็งปอดสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทตามชนิดขนาดของเซลล์มะเร็ง
- มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer)
เป็นมะเร็งปอดชนิดที่สามารถเติบโตได้อย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการสูบบุหรี่อย่างหนักและต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน หรือผู้ที่สูดดมควันบุหรี่ เขม่าควัน ฝุ่นละออง PM2.5
- มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer)
เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อยที่สุด (กว่า 85-90% ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง) โดยทั่วไปเป็นมะเร็งที่เติบโตและแพร่กระจายได้ช้ากว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการรักษาทางการแพทย์ หากได้รับการวินิจฉัยตรวจพบและรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
ระยะของโรคมะเร็งปอด
1. การแบ่งระยะมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ ดังนี้
- ระยะจำกัด (Linited-Stage) เป็นระยะที่มะเร็งพบอยู่ในปอด 1 ข้าง และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเท่านั้น
- ระยะลุกลาม (Extensive-Stage) เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น หรือออกจากปอดสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
2. การแบ่งระยะมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเมตรและยังไม่มีการแพร่กระจาย ไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เชนติมตร มีการลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอดชั้นนอก และผนังหน้าอกหรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง
- ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง และแพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่นๆ ในข้างเดียวกันหรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่กลางช่องอกหรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้นๆ
- ระยะที่ 4 มะเร็งที่กระจายออกนอกช่องอกไปยังที่ไกลจากจุดเริ่มต้น และมะเร็งที่กระจายไปที่เยื่อหุ้มปอดหรือแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งปอด
ในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงออกซึ่งอาการใด ๆ อาการบางอย่าง เช่น ไอ เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า อาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยสัญญาณและอาการของโรคมะเร็งปอด มีดังนี้
- ไอเรื้อรัง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ยาวนาน
- ไอเป็นเลือด
- หายใจหอบถี่
- เสียงแหบ
- หายใจเสียงหวีด
- ปวดศีรษะ
- เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า
- มีอาการเจ็บที่บริเวณหน้าอก หรือเจ็บบริเวณหน้าอกส่วนบน
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดบริเวณไหล่
- ปวดกระดูก
- มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ลำคอ และแขน
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด
ปัจจัยที่ควบคุมได้
- สูบบุหรี่ : บุหรี่เป็นปัจจัยหลักต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากที่สุด โดยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ทั้งในแง่ปริมาณและระยะเวลาที่สูบ นอกจากนี้ควันบุหรี่มือสองก็เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดด้วย
- สัมผัสกับก๊าซเรดอน (Radon) : เป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียมหรือยูเรเนียม มักพบในอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีหิน ดิน ทราย เจือปนแร่เรเดียม
- แร่ใยหิน : ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า
- สารก่อมะเร็งอื่น ๆ : เช่น สารหนู ถ่านหิน สารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- พันธุกรรม หรือมีประวัติเป็นมะเร็งในครอบครัว ย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว
- อายุที่มากขึ้น โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่
เราจะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้อย่างไร?
- หยุดสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดสําหรับตัวเองและบุคคลรอบข้าง
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ควันบุหรี่มือสองคือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดแม้กระทั่งกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อกรองสารพิษ การอยู่ให้ห่างจากพื้นที่สูบบุหรี่ซึ่งมีควันบุหรี่หนาแน่นสามารถลดความเสี่ยงจากการรับสารก่อมะเร็งได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของโรคมะเร็ง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายคือยาที่ดีที่สุด สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกลไกการทำงานของร่างกายโดยรวม
ที่มา : โรงพยาบาลเมดพาร์ค, โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลศิครินทร์
#โรคมะเร็ง #มะเร็งปอด #โรคมะเร็งปอด #มะเร็ง #ปอด #หน้ากากอนามัย #แมส #หน้ากากป้องกันฝุ่น #mask #pm2.5 #LungCancer